นอกจากอาการทั่วไปของผู้ติดเชื้อไวรัสเจ้าปัญหาโควิด-19 ที่เราทราบ อาทิ มีไข้ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ หรือสูญเสียกลิ่นและการรับรสแล้ว เร็ว ๆ นี้มีงานวิจัยบางชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าโควิด -19 อาจนำไปสู่ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (ED) ได้
ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้รอดชีวิตจากโควิด-19 อาจมีปัญหาสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ในระยะสั้นหรือระยะยาว รวมถึงการหย่อนสมรรภภาพทางเพศ หากเชื้อแพร่ไปถึงลูกอัณฑะ อาจส่งผลต่อการผลิตสเปิร์มและฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ในส่วนการหย่อนสมรรถภาพนั้น แม้จะยังไม่พบความเชื่อมโยงโดยตรง แต่ก็มีปัจจัยหลายประการที่อาจนำไปสู่การเริ่มเกิดอาการดังกล่าว
ปัจจัยหนึ่งก็คือ ไวรัสทำให้เกิดการอักเสบระดับสูงในร่างกาย ส่งผลให้เยื่อบุหลอดเลือดอักเสบ ร่างกายป้องกันตัวเองด้วยการสร้างลิ่มเลือดขนาดเล็กขึ้น ทั้งสองสิ่งนี้ขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดซึ่งทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว
ผลทางอ้อมหลังติดเชื้อไวรัสอาจทำให้สภาพหัวใจแย่ลง เช่น หัวใจอักเสบหรือหัวใจเต้นผิดปกติ และผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษาอาการดังกล่าว ยังอาจทำให้หย่อนสมรรถภาพได้ รวมทั้งยังมีผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับองคชาติและอัณฑะที่พบจากอีกสมมติฐานหนึ่งคือ ภาวะแทรกซ้อนจากโควิด-19 ในระยะยาวที่อาจนำไปสู่แผลเป็นบนองคชาติจากเนื้อเยื่อที่แข็งตัว
โควิด-19 ทำให้เกิดความเครียดทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงขณะฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้น และแม้ว่าระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะกลับมาเป็นปกติหลังจากหายป่วยแล้ว แต่การสูญเสียเทสโทสเตอโรนอาจนำไปสู่พังผืดบริเวณเนื้อเยื่อองคชาติ ซึ่งเป็นภาวะที่รักษาได้ยาก และไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีก
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ไวรัสโคโรน่าส่งผลกระทบต่อลูกอัณฑะโดยตรง โดยเมื่อเชื้อแพร่ผ่านโปรตีนในอัณฑะ จะทำให้ระดับเทสโทสเตอโรนในร่างกายลดลง ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ต่ำลงนี้นำไปสู่การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เช่นเดียวกับภาวะอ่อนเพลีย สูญเสียมวลกล้ามเนื้อหรืออารมณ์เพศ นอกจากนั้น เมื่อเทสโทสเตอโรนลดลง การตอบสนองการอักเสบของร่างกายก็รุนแรงขึ้น มีผลทำให้หลอดเลือดเสียหายมากขึ้น
สุขภาวะทางจิต
แม้ว่าคุณจะไม่ติดเชื้อโควิด-19 แต่ความเครียดจากกิจวัตรต่าง ๆ ที่ต้องชะงักงันเนื่องจากการระบาดใหญ่ อาจส่งผลร้ายต่อชีวิตทางเพศของคุณอย่างไม่คาดฝัน
กรอบคิดที่ตายตัวต่อกิจกรรมทางเพศ การแข็งตัวของอวัยวะเพศ ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ในช่วงการระบาดใหญ่ที่ยืดเยื้อนี้ ผู้ชายจำนวนมากจึงประสบกับความท้าทายเรื่องภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ และต้องเตรียมที่จะฟื้นฟูร่างกายจิตใจหลังจากหายป่วยแล้ว