2-3 ปีที่ผ่านมา "เนื้อเทียม"(Meat Analogue)เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากการที่บริษัทผู้ผลิตอาหารระดับโลกให้ความสนใจ จนเกิดการผลิตในระดับอุตสาหกรรมและสร้างตลาดใหม่ แม้พื้นฐานจะมาจากแนวคิดเหมือนอาหารมังสวิรัติ แต่เนื้อเทียมได้รับการปรับปรุงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จนมีรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อจริง ทั้งรูปร่าง สัมผัส และรสชาติ โดยเนื้อเทียมอาจแบ่งการผลิตออกได้เป็น 4 แบบคือ
1.Plant Base Protein
คือโปรตีนจากพืช เป็นเนื้อเทียมที่ผลิตจากถั่วเหลือง หรือถั่วลันเตา หรือกลูเต็น ผสมกับน้ำมันมะพร้าว เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ เพื่อให้มีความใกล้เคียงกับเนื้อจริง มีแบรนด์ดังในสหรัฐฯ คือ Impossible Food และ Beyond Meat
2.Insect
คือโปรตีนทางเลือกจากแมลง ซึ่งมีโปรตีนสูง และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน หนอนไม้ไผ่(รถด่วน)
3.Mycoprotein
คือโปรตีนที่ผลิตจากพวกเห็ดรา ซึ่งมีโปรตีนสูง มีไฟเบอร์ ไม่มีคลอเรสเตอรอล และคาร์โบไฮเดรตต่ำ ที่น่าสนใจคือมันมีความยืดหยุ่นที่สามารถขึ้นรูปเป็นเนื้อแบบมีกล้ามเนื้อ(muscle)ได้ มีแบรนด์ที่พัฒนาเนื้อชนิดนี้คือ Meati Food
4.Cultured Meat
เป็นการเพาะโปรตีนขึ้นจากเนื้อเยื่อเซลล์ของเนื้อสัตว์ โดยสร้างขึ้นเป็นเซลล์กล้ามเนื้อ ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นการทดลองในทางวิทยาศาสตร์ ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะสามารถผลิตได้จริง
เหตุผลสำคัญของการเติบโตของตลาดเนื้อเทียม คือ การทำฟาร์มเพื่อผลิตเนื้อสัตว์นั้นส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในหลายประเด็น ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(ประมาณ 12% มาจากการผลิตเนื้อสัตว์) การใช้น้ำในปริมาณมาก การเป็นต้นเหตุของโรคระบาด รวมทั้ง ผลกระทบด้านสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งการผลิตเนื้อเทียม จะส่งผลให้ผลิตเนื้อจริงลดปริมาณลง และเป็นผลดีทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค
บริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่เช่น เนสท์เล่ ยูนิลีเวอร์ และซิสเลอร์ ก็ได้มีการผลิตและเปิดตัวเมนูที่ผลิตจากเนื้อเทียม และเริ่มวางจำหน่ายในหลายประเทศแล้วด้วยเมนูยอดนิยมอย่าง เบอร์เกอร์ และสเต๊ก ในสหรัฐฯ และยุโรป กระแสตอบรับเมนูเนื้อเทียมค่อนข้างดี แม้ว่า ราคาอาจจะสูงกว่าเนื้อจริงอยู่บ้าง และรสชาติยังไม่อาจเทียบเนื้อจริงได้ 100% แต่ก็นับว่าใกล้เคียง และตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
แม้ตอนนี้ เนื้อเทียมยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่ถ้าหากสามารถผลิตได้ปริมาณมากและราคาถูกลงน่าจะเป็นตัวเลือกสำคัญที่มาทนแทนเนื้อจริงได้ และจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง
ลิ้งค์
https://blog.pttexpresso.com/meat-analogue/