เพิ่มเพื่อน

0

ข่าวสาร/สาระน่ารู้

อยู่เงียบๆ บ้าง สุขภาพจิตจะดีขึ้นนะ

แนท ริช ดีเจวัย 35 จากลอนดอนค้นพบว่า นอกจากตนจะติดยา เหล้าแล้ว เธอยังเสพติดดนตรีด้วย เวลาที่รู้สึกแย่ ๆ เธอจะใช้ดนตรีหนัก ๆ พาหนีไปจากภาวะอารมณ์ไม่พึงปรารถนาเหล่านั้น  โชคดีที่ริชพบว่านี่ไม่ใช่แค่การชื่นชอบแนวเพลงดังกล่าวเป็นพิเศษ แต่เธอใช้มันในฐานะสิ่งเสพติด  เธอได้ตัดสินใจเผชิญกับภาวะดังกล่าว  โดยการงดใช้ยา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหยุดฟังเพลงนานถึง 4 เดือน “การเลิกเล่นดนตรีไม่ใช่เรื่องง่าย” เธอยอมรับ “แต่หลังจากสี่เดือนที่เงียบสนิท นั่งอยู่กับตัวเอง อยู่กับความคิดของตัวเอง ฉันก็กลับไปเล่นเพลงด้วยแนวทางใหม่ ฉันสามารถฟังเพลงที่คลาสสิกขึ้น ประณีตและผ่อนคลาย ฉันเริ่มฟังเพลงที่ไม่เคยฟังมาก่อนเพราะได้เข้าสู่สภาวะทางอารมณ์ใหม่”

 

การเปลี่ยนแปลงนี้คือสิ่งที่หลายคนพยายามจะไปให้ถึง เมื่อพวกเขาออกเดินทางหรือผจญภัยในดินแดนที่ปราศจากเสียงรบกวนจากอุตสาหกรรม หรืออาจจะเรียกว่าแสวงหาในความเงียบก็ได้  คณะกรรมการการท่องเที่ยวของฟินแลนด์ซึ่งเข้าใจเรื่องนี้ได้ทำการตลาดโดยใช้สโลแกน “โปรดเงียบ” โดยเน้นไปที่ภูมิประเทศไร้เสียงอันกว้างใหญ่ของประเทศ  รวมทั้งทัศนคติของชาวฟินแลนด์ที่จะพูดก็ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น  

ikemen_best_men_foundation_silent_01.jpg (426 KB)

พิษภัยจากเสียง

การศึกษาจากมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์พบว่า ดนตรีบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ นักวิจัยชี้ว่า อาจเป็นเพราะดนตรีขัดขวางความจำในการทำงานด้วยคำพูด อันมาจากความสามารถของสมองส่วนการจดจำกิจกรรมเฉพาะ ดร.ทิม โลมาส อาจารย์อาวุโสและหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของยุโรปด้านจิตวิทยาเชิงบวกบอกเราว่า จริง ๆ แล้วเราสามารถทำแบบริชได้ คือทดลองใช้ชีวิตโดยปราศจากเสียงรบกวน เขากล่าวว่า “ผู้คนมักไม่มีเวลาและพื้นที่เพียงพอที่จะอยู่เงียบๆ  โดยเฉพาะท่ามกลางความเร่งรีบของโลกสมัยใหม่และสิ่งเร้าทั้งหมดที่ส่งผลกระทบกับเราอย่างต่อเนื่อง” 

 

จากรายงานในปี 2004 พบว่า ระดับเสียงที่สูงขึ้นในห้องทารกแรกเกิดนั้นทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ  รวมทั้งรบกวนการนอนหลับของทารก  องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทำการศึกษาและสรุปว่า เสียงรบกวนจากการจราจรในยุโรปตะวันตกมีผลต่อสุขภาพมนุษย์   โดยชี้ให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างเสียงจากสิ่งแวดล้อมกับโรคหลอดเลือดหัวใจ ความบกพร่องทางสติปัญญา การรบกวนการนอนหลับ หูอื้อ และความเครียด ดอกเตอร์โลมาสย้ำถึงความสำคัญของการใช้เวลาอยู่ห่างจากเสียงรบกวนและแสวงหาที่เงียบของคุณ  "เสียงพวกนี้มีผลให้ความกังวลและความวิตกกังวลของเราเพิ่มขึ้น" เขากล่าว

ikemen_best_men_foundation_silent_02.jpg (478 KB)

ความเงียบอันล้ำค่า

การที่เสียงขาดหายไปมีผลอย่างมากต่อสมอง การศึกษาจากมหาวิทยาลัยดุ๊กในสหรัฐอเมริกาบอกว่า การเงียบ 2 ชั่วโมงต่อวันส่งเสริมการพัฒนาเซลล์ในฮิปโปแคมปัส อันเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความทรงจำ นักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องประสาทวิทยาในสมองส่วนหน้าของมนุษย์พบว่า ความเงียบสามารถทำให้สมองเข้าสู่โหมด “ค่าเริ่มต้น” ซึ่งช่วยให้เราจัดการกับความคิดที่ยังไม่ได้ประมวลผลได้

ส่วน โจเซฟ เอ็ม. มอแรน หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า "เมื่อสมองได้พัก มันจะสามารถรวมข้อมูลภายในและภายนอกเข้าไว้ในพื้นที่ทำงานที่เชื่อมต่อกัน’”  

 

การหาโอกาสมีช่วงเวลาเงียบ ๆ บ้างในแต่ละวัน ไม่จำเป็นต้องจริงจังขนาดหลบเข้าถ้ำหรือหลีกเร้นตามป่าเขา การเดินในสวนสาธารณะอาจเพียงพอสำหรับคนส่วนใหญ่  การเข้ากลุ่มสมาธิก็ใช้ได้เหมือนกัน  ถึงแม้ ดร.โลมาส จะแนะนำเราให้อยู่ห่างจากมลภาวะทางเสียงสมัยใหม่  แต่ก็เน้นว่าความเงียบและการแยกตัวอาจทำให้ปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงขึ้นได้เหมือนกัน  “มีงานวิจัยที่ชี้ว่าการทำสมาธิเต็มรูปแบบอาจไม่เหมาะกับบางคน  ความเงียบเป็นเวลานานอาจเป็นประสบการณ์ที่ทรงพลัง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับมือ คุณต้องดูว่าอะไรเหมาะกับคุณ"

 

โดยเนื้อแท้แล้ว เสียง ไม่ได้แย่ไปเสียทั้งหมด จากการศึกษาในปี 2017  พบว่าการฟังเพลงคลาสสิกที่รื่นเริงช่วยในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการคิดแบบแยกส่วน (การสำรวจวิธีแก้ปัญหา และงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์) ปัจจุบันมีดนตรีหลายแนวซึ่งมีความถี่เหมาะสมและส่งเสริมการทำงานแต่ละประเภทของสมอง

 

ปัจจุบัน ริชได้พัฒนาประสบการณ์ของเธอเกี่ยวกับเสียงและความเงียบชื่อว่า  I  Am Sound (soundisahealer.com) ในรูปแบบของการให้คำปรึกษาแบบองค์รวม และจัดเวิร์กช็อปเรื่องเสียง กลองบำบัด สวดมนต์กลุ่ม รวมทั้งการทำสมาธิ  แม้ว่าดนตรีเร็ว ๆ อึกทึกครึกโครมจะเป็นสิ่งเสพติดช่วยให้เธอหนีปัญหา แต่ว่าเธอเข้าใจถึงธรรมชาติบำบัดของเสียงดนตรี  “รสนิยมทางดนตรีของฉันดีขึ้น  ตอนนี้ฉันสามารถลงลึกและฟังเพลงที่อาจทำให้ฉันร้องไห้หรือรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น  ฉันไม่เคยรู้เลยจริง ๆ ว่าดนตรีสามารถทำอะไรได้ จนกระทั่งได้นำความเงียบเข้ามาในชีวิต  ความเงียบทำให้ฉันเข้าใจทุกอย่าง'

ikemen_best_men_foundation_silent_03.jpg (271 KB)

ลิ้งค์

https://www.healthyformen.com/why-silence-is-good-for-your-health-hfm/